วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบาทนักศึกษาครูกับการเรียนรู้ชุมชน

นักศึกษาวิชาชีพครูถือเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทุกด้าน ถือได้ว่าเป็นความหวังของแผ่นดิน คือเป็นผู้นำภูมิปัญญา จริยธรรม การพัฒนาความคิด ที่ต้องส่งทอดโอกาสและสิ่งดีงามกลับคืนสู่สังคม เพราะในอนาคตนักศึกษาวิชาชีพครูจะต้องออกไปเป็นครูที่มีคุณภาพ ทำหน้าอบรมสั่งสอนศิษย์ และจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา ซึ่งในมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างประสบการณ์ให้เกิดขึ้นกับนักศึกษาวิชาชีพครู ทั้งความรู้ในห้องเรียนและประสบการณ์นอกห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาวิชาชีพครูได้เข้าใจบทบาทของความเป็นครูอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถนำความรู้และประสบการณ์ ที่ได้รับไปปรับใช้ในโอกาสต่อไปในฐานะครู ในการพัฒนาคนโดยเฉพาะนักศึกษาวิชาชีพครูในมหาวิทยาลัยมีสิ่งที่สำคัญที่จำเป็นต้องปลูกผังให้เกิดแก่นักศึกษาคือ ประการที่หนึ่ง “ปลูกฝังจิตสำนึก” ให้ตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมต่อตัวนักศึกษาวิชาชีพครู ให้เข้าใจถึงพันธะสัญญาที่จะต้องตอบแทนคุณของแผ่นดิน เสมือนนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ที่ตระหนักถึงหน้าที่ของเขาต่อประเทศชาติ ให้เข้าใจว่าการเป็นนักศึกษาวิชาชีพครู ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนักศึกษาเท่านั้น แต่เป็นความคาดหวังของประเทศชาติในภายภาคหน้า ประการที่สอง “ส่งเสริม สนับสนุน นำทางและพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูสู่ความเป็นผู้นำ” การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ให้ได้แสดงออกความคิดเห็น โดยการส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษา เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสังคม ให้ส่งทอดภูมิปัญญา การศึกษา วิทยาการชั้นสูง ให้เข้าใจถึงสถานภาพความเป็นบัณฑิต “ผู้ทรงภูมิปัญญา” ที่พร้อมจะถ่ายทอดสู่กลุ่มคนรุ่นหลังต่อไป  
          ด้วยบทบาทของนักศึกษาวิชาชีพครู เปรียบเสมือนความหวังของชาติที่ต้องถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ค่านิยมการใช้ชีวิต รวมถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น คงไว้ซึ่งการเรียนรู้ที่มีคุณค่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้อยู่ในสังคมการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษา เพราะการศึกษาถือว่าเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือชีวิต คือความเจริญงอกงาม คือกระบวนการทางสังคม คือการสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิต (จามจุรี จำเมืองและจำนง ห้อมแย้ม, 2554 : 1) โดยผู้เป็นครูนั้นต้องรับภาระหน้าที่ต่อสังคมและชาติบ้านเมือง หากผู้เป็นครูปฏิบัติภาระที่ตนเองได้รับบกพร่อง ผลกระทบก็จะตกไปถึงความเสื่อมของสังคมและชาติบ้านเมือง มีพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 กล่าวถึงหน้าที่ครูตอนหนึ่งว่า "...หน้าที่ของครูนั้นเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการปลูกฝังความรู้ ความคิด และจิตใจให้แก่เยาวชน เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี และมีประสิทธิภาพของประเทศชาติในกาลข้างหน้า ผู้เป็นครูจึงจัดได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญ ในการสร้างสรรค์บันดาลอนาคตของชาติบ้านเมือง..." และอีกตอนหนึ่งเป็นพระราโชวาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ในตอนหนึ่งว่า "...อาชีพครูถึงว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคง และก่อนที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญได้นั้น จะต้องพัฒนาคน ซึ่งก็ได้แก่เยาวชนของชาติเสียก่อน เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าสมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะสามารถช่วยกันสร้างความเจริญให้แก่ชาติต่อไปได้ ..." จากความสำคัญดังกล่าวทำให้หน้าที่ของครูนั้นยิ่งใหญ่ มีคุณค่าทางสังคม นักศึกษาวิชาชีพครูจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และจิตสาธารณะ เพื่อที่จะเตรียมตนเองให้พร้อมก่อนจะออกไปประกอบวิชาชีพครูต่อไป
          นอกจากหน้าที่ของครูจะหนักแล้ว ยังมีอีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเอง นั้นคือ หลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ระบุหลักการของแนวการจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ นอกจากนี้การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้ (1) ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง  และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก  รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ  การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน (3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา (4) ความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง (5) ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข (จำนงค์ หอมแย้ม เพ็ญสุรัตน์ หอมแย้ม และภราวดี ห้อมแย้ม, 2554) ซึ่งมีข้อหนึ่งที่กล่าวถึงบทบาทของครูในการจัดการศึกษาที่ต้องเน้นเกี่ยวกับ ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต ซึ่งครูจะต้องมีความรู้หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นโดยตรง จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาได้ หลักการที่สำคัญของการศึกษาภูมิปัญญาไทยนั้นคือ การเรียนรู้ชุมชน
           การเรียนรู้ชุมชนนั้นคือการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการกับภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านความคิด ค่านิยม รวมถึงการใช้ชีวิตเพื่อการได้มาซึ่งการพัฒนาของชุมชน ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง การเรียนรู้ชุมชนของนักศึกษาวิชาชีพครูนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในชั้นเรียน ที่หลังจากเรียนหลักวิชาการในห้องเรียนแล้วก็ต้องนำความรู้ที่ได้ ไปปรับใช้กับชุมชนที่ศึกษา หรือเรียกว่า การบริการวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ชุมชนอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาได้มีบทบาทในการพัฒนาชุมชน มีความสามัคคีในการทำงาน เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้จักวางแผนการทำงาน ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสังคม 
การจัดการเรียนการสอนด้วยการบริการสังคม จึงเป็นภารกิจหลักของสถานศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา จะต้องจัดการเรียนการสอนโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักกับสังคมในสถานการณ์จริง ร่วมกันคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองถึงความต้องการของสังคมที่นักศึกษาอาศัยอยู่หรือชุมชนใกล้เคียง และนักศึกษาสามารถช่วยเหลือได้ตามบทบาทและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองคนหนึ่ง โดยการนำความรู้ในรายวิชาที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับการบริการสังคม พร้อมทั้งได้เรียนรู้จากการลงมือช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน ตลอดจนเกิดความผูกพันกับชุมชน มีความรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่ของตน ซึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการบูรณาการเนื้อหารายวิชากับการจัดกิจกรรมบริการสังคม
          จากบทบาทของนักศึกวิชาชีพครูถือว่ามีส่วนในการในการพัฒนาสังคมโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชนโดยใช้หลักทางวิชาการในการเรียนรู้ชุมชน มีการวางแผน ปฏิบัติตามแผน ติดตามตรวจสอบและประเมินผล ทำให้รับทราบถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาของชุมชนนั้น ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักศึกษาวิชาชีพครู ในการเรียนรู้ชุมชน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงสิ่งที่ได้รับสามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนในเขตชุมชนได้เป็นอย่างดี และเป็นการสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดของตนเอง รักในความเป็นไทย มีจิตอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ในสังคมหรือชุมชนสืบไป
          ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ถือว่าเป็นมรดกทางความคิดที่ถูกถ่ายทอดทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่น โดยเริ่มจากวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย เป็นสังคมเกษตรกรรมที่ทุกคนอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนในระดับครอบครัว เป็นครอบครัวขยายที่มีคนหลายรุ่นอาศัยอยู่รวมกัน คือ รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก รุ่นหลาน 
รวมทั้งมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ใกล้ชิดกัน โดยมีศูนย์กลางของชุมชน ได้แก่ (1) ศาสนสถาน เช่น วัด มัสยิด (2) ผู้ใหญ่ในชุมชน เช่น พระ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ได้รับการนับถือและเป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งในชุมชน มีขนบธรรม เนียมประเพณี การละเล่น และความเชื่ออันเนื่องมาจากการเป็นสังคมเกษตรกรรม จากการนับถือศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมเรื่องการนับถือผีสางเทวดา เมื่อเวลาผ่านไป  สังคมมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความคิด ค่านิยม อุดมการณ์ การเมืองการปกครอง และบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งมีผลให้วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน (ศิริพร ดาบเพชร คมคาย มากบัว และประจักษ์ แป๊ะสกุล, 2552)
กลวิธีและกลไกในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน อีกวิธีหนึ่ง คือ การให้บริการวิชาการแก่ชุมชนของนักศึกษาวิชาชีพครู ที่บูรณาการวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างสังคมที่เป็นสุข จนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรู้ของชุมชนที่จะนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับประชาชน ในชุมชน เป็นแหล่งเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งบริการชุมชนด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ ของชุมชน โดยเน้นการกระบวนการเรียนรู้เพื่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก่อให้เกิดชุมชนแห่ง เรียนรู้ และมุ่งการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง เป็นศูนย์ฯ ของประชาชน ที่ดำเนินการโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
ในการเรียนรู้ชุมชนของนักศึกษาวิชาชีพครู นั้นถือได้ว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องศึกษารายละเอียด ประวัติของชุมชนอย่างแท้จริง ต้องมีความใกล้ชิดกับบุคคลในชุมชน เรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชน และเข้าใจบทบาทของตนเองต่อการเรียนรู้ชุมชน นักศึกษาวิชาชีพครู นอกจากจะเรียนในห้องเรียนแล้ว ด้านของการนำความรู้ทางวิชาการไปประยุกต์ใช้กับชุมชน ควรมีการกำหนดกรอบของการพัฒนาอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการที่ชัดเจน เน้นการปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง มีการแบ่งภาระหน้าที่ของกลุ่มตามความถนัด และสร้างวิธีการเรียนรู้ชุมชนอย่างหลากหลายผ่านแนวความคิดของสมาชิกกลุ่ม จากนั้นเลือกสิ่งที่เป็นจุดสนใจของกลุ่มหรือจุดเน้นที่กลุ่มต้องการพัฒนาหนึ่งอย่าง เพื่อสร้างนวัตกรรมทางแหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เกิดขึ้นกับชุมชน ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งต่อชุมชนและต่อนักศึกษาวิชาชีพครู   
          นวัตกรรมทางแหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ การนำเอาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของแนวความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ เข้ามาใช้ในกระบวนการสร้างหรือพัฒนาแหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน อาจรวมถึงดัดแปลงจากแหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและได้ผลดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานด้วย
          ในรูปแบบการสร้างนวัตกรรมทางแหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ของนักศึกษาวิชาชีพครู จำเป็น ต้องเรียนรู้หลักทางวิชาการและหลักในการเรียนรู้ชุมชน ควบคู่กันไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาวิชาชีพครูให้พร้อมในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ในรูปแบบที่เรียกว่า การเรียนรู้ชุมชน นักศึกษาวิชาชีพครูควรมีความเข้าใจและรับรู้ถึงขีดความสามารถของตนเอง ตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ทั้งต่อตนเอง ชุมชน และสังคมทั่วไป
          การที่นักศึกษาวิชาชีพครูจะสามารถรับรู้ถึงขีดความสามารถของตนเองและตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ควรมีขั้นตอนในการเรียนที่บูรณาการทั้งวิชาการและหลักการเรียนรู้ตนเอง ตามขั้นตอน PCAR MODEL โดยมีรายละเอียดดังนี้
          (1) ขั้นเตรียมการ (Preparation) คือ ขั้นตอนที่ให้ความรู้แก่ผู้เรียนในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในสังคม เพื่อศึกษาสภาพและความต้องการของสังคม จากแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามจุดประสงค์ของรายวิชา จากนั้นให้ผู้เรียนร่วมกันคิดวิเคราะห์ อภิปรายหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกันวางแผนในการจัดกิจกรรมการบริการวิชาการแก่สังคมตามความต้องการของชุมชน และตามความรู้ ความสามารถและศักยภาพของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของรายวิชา
          (2) ขั้นนำเสนองานหน้าชั้นเรียน (Class Presentation) คือ ขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนได้นำเสนอกิจกรรมกลุ่มเพื่อบริการวิชาการแก่สังคมตามความสนใจ หรือความถนัด ความรู้ ความสามารถของกลุ่ม
          (3) ขั้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Activity Based Learning) คือ ขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนร่วมกันสร้างกิจกรรมวิชาการตามแผนการที่ได้วางแผนไว้ร่วมกัน ในขั้นนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เพื่อบริการสังคมร่วมกันโดยผู้สอนเป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
          (4) ขั้นสะท้อนความคิด (Reflective Thinking) คือ ขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนนำผลการปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการกับสังคมมาร่วมกันคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อสรุปความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เรียนฝึกการใช้เหตุผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมและเกิดจิตสำนึกทางจริยธรรมได้ โดยการเขียนรายงานกิจกรรมในเชิงวิชาการร่วมกัน
          เมื่อนักศึกษาวิชาชีพครูได้เรียนรู้ผ่านกระบวน PCAR MODEL นักศึกษาวิชาชีพครูสามารถเข้าใจหลักวิชาการเรียนรู้ชุมชน ตลอดจนรับรู้ถึงขีดความสามารถของตนเอง และตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เป็นหลักพื้นฐานในการเรียนรู้ชุมชน ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อกระบวนการทำงาน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้กระบวนการเรียนรู้ชุมชนเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ สามารถสร้างนวัตกรรมทางแหล่งการเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนมากขึ้น
          ถ้านวัตกรรมทางแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดขึ้นในชุมชนใดแล้ว ถือได้ว่าชุมชนนั้นสามารถเป็นชุมชนแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน สืบทอดค่านิยม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีต ใช้หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถอยู่คู่กับสังคมในปัจจุบันได้อย่างลงตัว คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ผ่านวิธีการที่หลากหลายเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน ถ่ายทอดสู่กลุ่มคนทั่วไปที่สนใจในการเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง   

1 ความคิดเห็น: